แบรนด์ควรปรับตัวอย่างไรให้พร้อมรับมือ New Normal

ในขณะนี้สถานการณ์ของวิกฤติไวรัสโควิด-19 ในไทยและหลายประเทศทั่วโลกเริ่มที่จะคลี่คลายลง ผู้คนเริ่มที่จะกลับมาทำงานในออฟฟิศกันบ้างและใช้ชีวิตปกติกันมากขึ้น แต่คงต้องยอมรับว่าการกักตัวในช่วงเวลานานกว่าหนึ่งเดือนที่ผ่านมาทำให้วิถีชีวิตของเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด เรื่องที่ดูผิดปกติในสมัยก่อน เช่น การทำงานที่บ้านแล้วประชุมผ่านวิดีโอคอล การเรียนออนไลน์ และการนั่งกินข้าวกับเพื่อนแยกกันคนละโต๊ะที่ร้านอาหาร จะกลายเป็นเรื่องปกติ จึงเกิดคำศัพท์คำว่า “New Normal” ขึ้น

มีผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่าสภาวะธรรมดาที่ไม่ธรรมดานี้จะไม่หายไปโดยสิ้นเชิงแม้ว่าจะมีการค้นพบวัคซีนหรือวิธีรักษาแล้วก็ตาม เพราะกิจกรรมหลาย ๆ อย่างในชีวิตประจำวันของเรานั้นได้ถูกพิสูจน์แล้วว่าสามารถทำที่บ้านได้ โดยไม่ต้องออกไปข้างนอก และบางทีอาจจะสะดวกขึ้นกว่าเดิมด้วยซํ้า ขอแค่เพียงมีอินเทอร์เน็ตก็ทำงานและกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างง่ายดาย ซึ่งหลังจากนี้อินเทอร์เน็ตจะกลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ทุกคนต้องมีและใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แพลทฟอร์มดิจิทัลต่าง ๆ ก็มีการคาดการณ์ว่าจะสามารถรองรับข้ามโปรแกรม อีกทั้งเรื่อง Internet of Things ก็จะได้รับความสนใจและพัฒนาไปอย่างรวดเร็วกว่าเดิม

ดังนั้น การตลาดดิจิทัลจะทวีความเข้มข้นยิ่งขึ้น แต่ละแบรนด์จะต้องใช้ความพยายาม ความคิดสร้างสรรค์ ความพลิกแพลงมากขึ้นอีกเพื่อให้สอดรับกับความต้องการและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป มาดูกันว่า มีเรื่องอะไรบ้างที่นักการตลาดต้องเตรียมตัวรับมือในการทำการตลาดยุค New Normal

ความปลอดภัย

  • ผู้คนใส่ใจการดูแลสุขภาพมากขึ้น ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการป้องกันเชื้อโรค ยา อาหารเพื่อสุขภาพ จะได้รับความสนใจมากขึ้นกว่าเดิม
  • แม้ไวรัสจะหายไปแต่ระยะห่างทางสังคมจะคงอยู่ เพราะคนยังระวังตัว ระแวงภัย พื้นที่ส่วนตัวในที่สาธารณะจะขยายกว้างขึ้น บริการทุกอย่างต้องสะอาด ถูกสุขลักษณะ และสะดวก โดยเฉพาะด้านอาหาร และบริการ

ความสะดวก

  • ผู้บริโภคทุกช่วงวัยใช้บริการที่เป็นดิจิทัลมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านการ ทำงาน เรียน จับจ่ายใช้สอย สั่งอาหาร และสื่อบันเทิง ทั้งภาพยนตร์ ละครออนไลน์ และเล่นเกมออนไลน์ แทนที่จะออกไปข้างนอก หลายๆ ครัวเรือนจะพบว่าตัวเองได้ชินกับความสะดวกสบายที่สามารถทำทุกอย่างได้ผ่านมือถือ หรือคอมพิวเตอร์โดยไม่ต้องออกจากบ้านแต่อย่างใด
  • คนออกนอกบ้านน้อยลง บริการอาหาร Delivery ได้รับความนิยมแบบก้าวกระโดด ร้านอาหารต้องเน้นการส่งถึงบ้าน บริการอื่น ๆ ก็จะผันตัวมาทำการส่งสินค้าหรือให้บริการถึงที่บ้าน เช่น บริการตัดผมจากบ้าน 
  • อีคอมเมิร์ซและมาร์เก็ตเพลสจะเติบโตขึ้น สินค้าและบริการที่ออฟไลน์จะต้องปรับมาออนไลน์ให้ได้ แบรนด์ต้องเช็คดูความเป็นไปได้ว่าจะทำธุรกิจแบบออนไลน์ทางใดได้บ้าง
  • สังคมไร้เงินสดจะเป็นจริงมากขึ้น และเน้นไปที่ Contactless Payment เพื่อลดการหยิบจับเงินสดที่อาจเสียงต่อโรค การนำเทคโนโลยีมาใช้อำนวยความสะดวกในการชำระเงินแบบนี้จะได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างดี
  • การเรียนออนไลน์และ Work from Home จะยังมีอยู่และมีโปรแกรมรองรับได้ดียิ่งขึ้น
  • เครื่องใช้ เครื่องครัวต่างๆ ในบ้านจะรองรับฟังก์ชั่นที่หลากหลาย ครอบคลุมประสบการณ์เหมือนไปนั่งทานอาหาร หรือกาแฟข้างนอกบ้าน
  • VR/AR ที่เป็นประสบการณ์เสมือนจริงจะมีบทบาทมากขึ้น การเที่ยวชมสถานที่เสมือนแทนการไปสถานที่จริง การดูสินค้าแบบเสมือนก่อนตัดสินใจซื้อ เป็นต้น จะช่วยให้หลายธุรกิจสามารถรักษาฐานลูกค้าไว้ได้
  • ระบบ Online Call Center หรือบริการ Video Conference ของแบรนด์จะสามารถตอบสนองผู้บริโภคในเวลาที่มีคำถามหรือต้องการความช่วยเหลือได้ดีขึ้น โดยเฉพาะ chat messenger ที่สามารถโต้ตอบได้สะดวก

ความคุ้มค่า

  • คนยังไม่มั่นใจในสภาวะเศรษฐกิจ ตลอตจนความมั่นคงของชีวิตและทรัพย์สิน สินค้าจำเป็นอย่าง เวชภัณฑ์ อาหารแห้ง และอาหารแช่แข็งจะได้รับความนิยมมากขึ้น ความต้องการสินค้าฟุ่มเฟือยจะลดลง ผู้คนจะระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น แบรนด์จึงต้องแสดงความคุ้มค่าและขาดไม่ได้ออกมาให้เห็น ผู้บริโภคจึงจะเลือกใช้บริการของแบรนด์นั้นๆ
  • การให้บริการแบบเก็บค่าสมาชิกรายเดือนก็คาดว่าจะมีมากขึ้น เพราะผู้บริโภครู้สึกว่าคุ้มค่ากว่า มีเนื้อหาที่ครอบคลุมความต้องการของทั้งตัวเองและครอบครัวได้ โดยเฉพาะในฝั่งของธุรกิจบันเทิง ไม่ว่าจะเป็นละคร ภาพยนตร์ เพลง หรือเกม

เนื้อหา

  • ผู้บริโภคอยากดูเนื้อหาที่บันเทิงเพื่อคลายเครียดในช่วงวิกฤติ แม้วิกฤติจะผ่านไปแล้ว แต่เนื้อหายังคงต้องสนุกสนาน เข้าใจง่าย โดนใจคนดูในเวลาที่จำกัดมากขึ้น เรียงลำดับเป็น รูปภาพ วิดีโอ และข้อความ ตามลำดับความนิยม
  • ข้อมูลที่นำเสนอต้องเข้าใจได้ง่าย กระชับ ตามระยะเวลาความสนใจที่มีจำกัด

อื่นๆ

  • ประกันชีวิตและประกันสุขภาพจะได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะผู้บริโภคให้ความสำคัญกับสุขภาพ การออมและการลงทุนมากขึ้น
  • Big Data จะมีการนำมาใช้จริงมากขึ้นในการสำรวจความต้องการที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาของผู้บริโภค  แบรนด์ต้องวิเคราะห์ข้อมูลอย่างจริงจังมากขึ้นเพื่อให้ทุกบาทที่ลงทุนไปคุ้มค่าและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายจริง ๆ

จากข้อมูลดังกล่าว นักการตลาดน่าจะพอเห็นแนวทางในการปรับแผนเพื่อให้แบรนด์สามารถครองใจผู้บริโภคได้แม้ในวันที่อะไรหลาย ๆ อย่างพร้อมใจกันเปลี่ยนไปแบบไม่ทันตั้งตัวเช่นนี้ หากลองศึกษาอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว ไม่แน่นะ…คุณอาจมองเห็นโอกาสที่ดีในการทำการตลาดจากวิกฤติครั้งนี้ในแบบที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อนก็เป็นได้