โดยพื้นฐานแล้ว ถึงการทำ SEO พื้นฐาน และการทำ SEO สำหรับบริษัทจะมีความละไม้คล้ายคลึงกันมาก แต่การทำ SEO สำหรับบล็อก, แพลตฟอร์ม E-commerce หรือเว็บไซต์เปรียบเทียบผลิตภัณฑ์นั้นกลับไม่เหมือนกันเลย
เช็คลิสต์มาตรฐานทั่วไปในการทำ SEO ก็จะมีการทำไซต์แม็พ XML ให้สมบูรณ์, ใส่ Meta Properties, เขียนบทความยาวประมาณ 1,800 คำ, การเลือกภาพมาใช้ และปรับ Alt-Tag เป็นต้น ซึ่งอาจใช้ได้ดีกับเว็บไซต์ และเว็บไซต์ประเภทบล็อก
แต่หากพูดถึงการทำ SEO สำหรับเว็บไซต์ที่มีมากกว่า 1,000 หน้า ก็จะเป็นอีกเรื่องหนึ่งไปเลย ซึ่งในที่นี้ก็คือ การทำ SEO สำหรับองค์กร (Enterprise SEO) การทำ SEO ในระดับนี้จะต้องลงลึกไปถึงขั้น ‘Technical SEO’ กันเลยทีเดียว ยกตัวอย่างเช่นการวางโครงสร้างเว็บไซต์, การติดแท็กอัตโนมัติ, การใช้ Canonical tag สำหรับหน้าเว็บแบบ Dynamic, การปรับ Crawl budget เป็นต้น
แต่ข้อแรกที่ควรตอบให้ได้ก่อนก็คือ คุณต้องการทำ SEO ในระดับไหน
#1 การออพติไมซ์เกินความจำเป็น (Over-optimization) มีอยู่จริงนะ
การทำ SEO ก็เหมือนกับการเดินทรงตัวบนเชือกที่ขึงอยู่กลางอากาศตรงที่ต้องคอยรักษาความสมดุลเพื่อให้สามารถไปถึงอีกฝั่งได้โดยสวัสดิภาพ แต่ถ้าระหว่างทาง เราเกิดทิ้งน้ำหนักไปทางซ้ายหรือขวามากเกินไป ก็จะพลาดตกจากเชือกได้
กล่าวง่าย ๆ ก็คือ แน่นอนว่าคุณย่อมต้องการออพติไมซ์เว็บไซต์ และเนื้อหาเพื่อให้ได้อันดับดี ๆ ในหน้าแสดงผลการเสิร์ชของ Google แต่ไม่ว่าจะเป็นการออพติไมซ์ หรืออะไรก็ตาม หากทำมากเกินไป ย่อมจะไม่เกิดผลดี
ยกตัวอย่างเช่น การใส่ Microdata Mark-ups ในโค้ด (Schema.org) ที่ตามปกติแล้วจะช่วยให้ Google เข้าใจโครงสร้างของเนื้อหาในเว็บไซต์ของคุณได้ดี และโชว์เว็บไซต์ของคุณในหน้าผลเสิร์ชในอันดับที่ดีขึ้น แต่ถึงกระนั้น หากทำ Microdata Markup อย่างไม่เหมาะสมอาทิ Markup รีวิวเยอะผิดปกติ คุณก็อาจจะโดนเตือน หรือแม้แต่โดน Penalty ใน Google Search Console ได้
#2 โฟกัสเรื่องการ Branding ด้วย ไม่ต้องขะมักเขม้นสร้าง Backlink รัว ๆ เสมอไป
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการสร้าง Backlink หมดความหมายไปแล้วนะ ไม่ว่ายังไง Backlink ก็คือสิ่งที่อยู่คู่กับ SEO ตลอดมา เพราะเป็นรากฐานของการพัฒนาการเสิร์ชขึ้นมาตั้งแต่แรก เหมือนใน Link Graph ของ Google ที่เป็นแผนผังแสดงการลิงก์กันของเว็บไซต์ทั้งหมดในโลกอินเทอร์เน็ตไงล่ะ
อย่างไรก็ดี ที่เราจะบอกก็คือเมื่อทำ Backlink คุณควรคำนึงถึงแคมเปญ Branding, การตลาด Viral และเนื้อหาที่ผู้ใช้เป็นคนสร้าง (User generated content) เช่น การจัดรายการประกวดชิงรางวัลควบคู่กันไปด้วย เพราะแค่สร้างลิงก์กันไปมา การฟาร์มลิงก์ และซื้อพื้นที่โฆษณาไว้ใส่ลิงก์ไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว
ปัจจุบันนี้ เทคโนโลยีการเสิร์ชกำลังก้าวไปในทิศทางของ Machine learning และ Artificial intelligence มากขึ้น ซึ่งหมายถวามว่าต่อไป Rankbrain ก็จะเรียนรู้สัญญาณต่าง ๆ จากการวิเคราะห์ลิงก์ที่จะทำให้บอกได้ว่าเว็บไซต์ของคุณมีคุณภาพหรือไม่ในสายตาของผู้ใช้
#3 ให้ความสำคัญกับการออพติไมซ์เซิร์ฟเวอร์ และการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ และหันกลับมาหา Technical SEO
ผู้เชี่ยวชาญหลาย ๆ คนอาจแนะนำให้ใช้การทำ Content Marketing เพื่อให้ได้อันดับผลเสิร์ชดี ๆ แต่อันที่จริง ถ้าเว็บไซต์ของคุณเป็นเว็บไซต์องค์กร การทำ Content marketing ก็จะต้องเกี่ยวข้องกับเรื่อง Branding และการประชาสัมพันธ์อยู่แล้ว
แต่ก็ยังมีรายละเอียดทาง SEO ในความรับผิดชอบของทีม IT ที่ต้องไม่มองข้ามอาทิ ความเร็วเซิร์ฟเวอร์, ความลื่นไหลในการใช้งานบนอุปกรณ์มือถือ, ความปลอดภัย, การแก้ไขความผิดพลาดบนเว็บไซต์, การตรวจตราเสิร์ชบ็อท, โครงสร้างเว็บไซต์, robots.txt, การ Troubleshoot และการออพติไมซ์ XML Sitemap และอื่น ๆ อีกมากมาย
สำหรับเว็บไซต์แบบ Dynamic ขนาดใหญ่ Technical SEO จะมีความสำคัญมาก เพราะขนาดของเว็บไซต์จะทำให้ไม่สามารถอาศัยแค่การสร้าง Backlink และคอนเทนต์เพียงจำนวนหนึ่งได้
#4 แก้ไขกรณีเนื้อหาซ้ำ (Duplicate content) ทั้งภายในเว็บไซต์ของตัวเองและที่อื่น
Duplicate content ก็คือเนื้อหาที่ถูก “ลอก” ไปนั่นเอง
ลิขสิทธิ์เป็นเรื่องสำคัญแม้แต่ในโลกออนไลน์ เสิร์ชเอ็นจินเองก็เป็นธุรกิจรูปแบบหนึ่ง ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำตามจรรยาบรรณธุรกิจก็คือการแสดงผลเสิร์ชที่ไม่ซ้ำซ้อน ซึ่งเป็นสิ่งที่เสิร์ชเอ็นจินหลาย ๆ เจ้าทำอยู่หลังจากที่เลือกแล้วว่าคอนเทนต์อันไหนเป็นของแท้และดั้งเดิม (ซึ่งอาจจะเลือกไม่ถูกต้องเสมอไป)
เมื่อมีสองเว็บไซต์ที่แสดงคอนเทนต์ซ้ำกัน จะมีแค่เว็บไซต์เดียวเท่านั้นที่จะได้รับการจัดอันดับในหน้าผลเสิร์ชสำหรับคอนเทนต์ชิ้นนั้น ซึ่งโดยมากก็จะเป็นเว็บไซต์ที่มีชื่อเสียงมากกว่า แม้เว็บซึ่งเป็นที่รู้จักน้อยกว่าจะเป็นคนสร้างคอนเทนต์ชิ้นนั้นขึ้นมาก็ตาม ฉะนั้นควรเช็คบ่อย ๆ ว่ามีใครลอกเนื้อหาของเราไปลงเว็บไซต์ของตัวเองหรือไม่ และถ้าเจอ ก็สามารถติดต่อเว็บไซต์นั้น ๆ เพื่อให้นำเนื้อหาที่ลอกไปออกได้
สำหรับการแสดงเนื้อหาซ้ำกันภายในเว็บไซต์ของคุณเอง จัดการได้ด้วยการใช้ ‘Canonical’ Tag โดยแท็กชนิดนี้จะบอกชี้ให้เสิร์ชเอ็นจินรู้ว่าเนื้อหาชิ้นไหนที่เป็นเนื้อหาต้นแบบ เสิร์ชเอ็นจินจะได้ไม่สับสน ทั้งยังเป็นการแสดงให้เห็นว่าเว็บไซต์ของคุณได้รับการดูแลเป็นอย่างดีอีกด้วย
#5 ความท้าทายที่ต้องเจอ: สร้างคอนเทนต์คุณภาพให้มากตามขนาดเว็บไซต์
แม้ว่าจะมีหลาย ๆ อย่างที่เทคโนโลยีช่วยทำให้ได้แบบอัตโนมัติเช่น การใช้ Dynamic XML Sitemap เพื่ออัปเดต URL ของเว็บเพจอัตโนมัติเพื่อให้ Googlebot หาเจอ แต่ก็มีอีกหลายสิ่งที่เทคโนโลยีทำให้ไม่ได้โดยไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อคุณภาพของเว็บไซต์เช่น การสร้างคอนเทนต์ (Content creation) นั่นเอง
แล้วองค์กรจะสร้างคอนเทนต์คุณภาพให้มากตามขนาดเว็บไซต์ได้อย่างไร มาเริ่มกันที่คำถามที่ว่า คอนเทนต์คืออะไร กันก่อนดีกว่า การทำคอนเทนต์ไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องมานั่งเขียนบทความเองเป็นตั้ง ๆ เสมอไป แม้ว่าคอนเทนต์ชนิดนี้จะนับเป็นคอนเทนต์คุณภาพสูงอย่างหนึ่ง แต่อาจส่งผลดีกับเว็บไซต์ระดับองคกรได้ไม่มากนัก แต่นอกจากสร้างคอนเทนต์เองแล้ว คุณยังสามารถให้ผู้ใช้เป็นฝ่ายสร้างคอนเทนต์ในเว็บไซต์ของคุณได้อีกด้วยเช่น ฟอรัมสนทนา และคอมเมนต์ต่าง ๆ ตลอดจนวิดีโอ, Snippet, ภาพ เป็นต้น
ควรจำไว้ว่า การทำ SEO องค์กรไม่ได้เกี่ยวข้องกับขนาดขององค์กรเลยแม้แต่น้อย เพราะหากองค์กรใหญ่ แต่มีเว็บไซต์นำเสนอแบรนด์ที่มีเพียงไม่กี่ร้อยหน้า คุณก็ไม่จำเป็นต้องพึ่ง SEO ระดับองค์กร แต่ถ้าเป็นบริษัทเล็ก แต่ทำธุรกิจ E-commerce ขายผลิตภัณฑ์ออนไลน์เป็นพันอย่าง ก็ต้องทำ SEO ระดับองค์กร
และหากคุณต้องการทราบเกี่ยวกับ SEO องค์กรเพิ่มเติม ทีมงานของเราพร้อมตอบข้อสงสัยและให้ข้อมูลเพิ่มเติมตลอดเวลาค่ะ ติดต่อสอบถามเข้ามาได้เลย