ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันการทำธุรกิจบนเว็บไซต์ถือเป็นการตลาดรูปแบบหนึ่งที่เรียกได้ว่า “ไม่ทำไม่ได้แล้ว” เพราะในยุคนี้ที่กระแสดิจิทัลกำลังเฟื่องฟู ไม่มีใครไม่ใช้อินเตอร์เน็ต เช่นเดียวกับการตลาดรูปแบบอื่น การตลาดออนไลน์เองก็ต้องมีการวางแผนที่ดี ซึ่งโดยทั่วไปจะมีกลยุทธ์ในการวางแผนสองแบบหลัก ๆ คือ การทำ SEO และ SEM หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การโฆษณาเว็บไซต์
การซื้อโฆษณาบนเว็บไซต์มีชื่อเรียกที่อาจคุ้นหูใครหลาย ๆ คนว่า “SEM” หรือ Search Engine Marketing อธิบายง่าย ๆ ก็คือการที่เราจ่ายเงินเพื่อให้เว็บไซต์ของเราขึ้นเป็นอันดับแรก ๆ เวลาที่มีคนค้นหานั่นเอง แต่ทุกอย่างไม่ได้ง่ายแค่จ่ายเงินแล้วจบ เพราะระบบในการคัดเลือกเว็บไซต์โฆษณามาแสดงผลให้ผู้ใช้งานได้เห็นของเสิร์ชเอนจิน (Search Engine) ต่าง ๆ นั้นซับซ้อนกว่าที่คิด โฆษณาที่แสดงขึ้นมาให้เราเห็นเพียงไม่กี่ลิงค์บนหน้ากูเกิลได้ผ่านการประมวลผลโดยระบบอัลกอริทึมและปัญญาประดิษฐ์อย่างละเอียดยิบ ซึ่งอัลกอริทึมเหล่านี้ แต่ละตัวก็มีมาตรฐานที่แตกต่างกันยิบย่อยลงไปอีก บางตัวตรวจจับเว็บไซต์ที่ไม่น่าเชื่อถือได้ บางตัวก็ถึงกับรู้ว่าเนื้อหาที่อยู่บนเว็บไซต์นั้นมีคุณภาพมากน้อยแค่ไหน ดังนั้นการทำ SEM จึงไม่ใช่แค่การมีเงินอย่างเดียวแล้วจะทำได้ทุกอย่าง แต่ต้องมีความเข้าใจหลักในการทำงานของเสิร์ชเอนจินและต้องมีประสบการณ์ไม่ต่างจากการทำการตลาดบนสื่อออฟไลน์ทั่วไปเลย
SEM Tools วิเคราะห์ข้อมูลทางการตลาดได้ง่ายแค่ปลายนิ้ว
เนื่องจากสมัยนี้ใคร ๆ ก็ทำ SEM ดังที่ได้กล่าวไปตอนต้น ทำให้มีการพัฒนาเครื่องมือที่ช่วยในการทำการตลาดบนเว็บไซต์ขึ้นมา ยกตัวอย่างเช่น กูเกิล ที่เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจเสิร์ชเอินจินรายใหญ่และก้าวหน้าที่สุดในขณะนี้ ก็มีการพัฒนา Google Analytics, Google Trends, Google Keyword Planner และเครื่องมืออื่น ๆ อีกมากมาย แต่ละตัวทำงานแตกต่างกัน แต่ก็ล้วนถูกสร้างขึ้นมาเพื่อช่วยสนับสนุนการทำ SEM เหมือนกันหมด
- Google Keyword Planner ตัวนี้จะช่วยวางแผนว่าถ้าหากอยากให้เว็บไซต์ของเราได้ขึ้นโฆษณาในหน้าผลลัพธ์การค้นหา เราควรใช้คีย์เวิร์ดคำว่าอะไรในการค้นหา ระดับการแข่งขันของคำนั้นสูงแค่ไหน และราคาโดยประมาณถ้าจะซื้อโฆษณาคำนี้คือเท่าไหร่ มีจำนวนที่ถูกค้นหาเท่าไหร่บ้างในหนึ่งเดือน เรียกได้ว่าทำให้แทบจะทั้งหมด แต่ในด้านของการวางแผนการตลาด ก็ยังต้องเป็นหน้าที่ของเจ้าของธุรกิจที่ต้องตัดสินใจด้วยตนเอง
- Google Trends ช่วยวิเคราะห์แนวโน้มการค้นหาคำต่าง ๆ ที่ผู้ใช้งานค้นหาผ่านการเสิร์ช ว่าคำนี้ถูกค้นหาแบบไหน จากที่ไหน ในเวลาใดมากที่สุด สามารถดูย้อนหลังได้จนถึงปัจจุบัน และนำหลาย ๆ คำมาเปรียบเทียบกันได้ โดยจะแสดงผลออกมาในรูปแบบกราฟ สามารถนำข้อมูลที่ได้ไปวิเคราะห์เพื่อซื้อโฆษณาคีย์เวิร์ด (Keyword Analysis) และดูภาพรวมว่ามีคนรู้จักเรามากน้อยแค่ไหน
- Google Analytics เป็นเครื่องมือที่ช่วยเจ้าของเว็บไซต์ในการเก็บข้อมูลผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมหน้าเว็บ โดยสามารถเก็บข้อมูลที่จำเป็นได้ละเอียดมาก ทั้งตำแหน่งของต้นทางว่ามาจากสื่อใด ยอดขายที่เกิดขึ้นจากการเข้าชมเว็บไซต์เทียบกับต้นทุนค่าโฆษณา ไปจนถึงข้อมูลและพฤติกรรมของผู้เข้าชม เช่น เพศ อายุ เวลาที่ใช้งาน เกิดการซื้อหรือไม่ ซื้ออะไรมากที่สุด เป็นต้น ข้อมูลพวกนี้ทำให้เราทราบถึงปัญหาหรือโอกาสที่มีอยู่ และนำไปใช้ตัดสินใจทางธุรกิจ หรือวางแผนกลยุทธ์อื่น ๆ ทางการตลาดต่อไปได้
PPC อีกหนึ่งกุญแจสำคัญสู่การประสบความสำเร็จในการทำ SEM
“PPC” หรือ Pay Per Click คือการซื้อพื้นที่บนโลกอินเตอร์เน็ตด้วยการประมูล ใครมีทรัพยากรพร้อมใช้มากกว่าก็ได้พื้นที่มากกว่า ศัพท์คำนี้อาจจะฟังดูไม่คุ้นหู แต่ถ้ายกตัวอย่าง “Google Ads” ขึ้นมา หลาย ๆ คนอาจจะพอเคยเห็นกันอยู่บ้าง
หลักการทำงานของ Ads คือการที่เราจ่ายเงินเพื่อซื้อคีย์เวิร์ด หรือคำค้นหา บนหน้าผลลัพธ์การค้นหา เวลาที่มีคนค้นหาคำที่เราซื้อไว้ เว็บไซต์ของเราก็จะขึ้นมาแทรกอยู่ในหน้านั้น ยิ่งอยู่อันดับบนเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีโอกาสที่คนจะกดเข้าไปมาก แต่อย่างที่กล่าวไปว่าระบบของกูเกิลนั้นซับซ้อนมาก นอกจากจะมีเงินแล้วก็ต้องมีความเข้าใจในหลักการทำงานของเสิร์ชเอนจินเป็นอย่างดี ระบบ PPC ของ Ads ก็เหมือนกัน คนที่ประมูลด้วยราคาที่สูงที่สุด อาจไม่ใช่คนที่ได้เป็นที่ 1 เสมอไป แต่ต้องมีเว็บไซต์ที่มีคุณภาพ ตรงตามมาตรฐานที่ระบบอัลกอริทึมของกูเกิลยอมรับได้ด้วย
ส่วนของการซื้อคีย์เวิร์ดเองก็เป็นส่วนหนึ่งของแผนการตลาด ดังนั้นจึงต้องมีการวิเคราะห์และวางแผนก่อนเสมอ โดยการวางแผนแต่ละครั้งจะแบ่งเป็นแคมเปญ แต่ละแคมเปญมีระยะเวลาที่ไม่เท่ากัน และคีย์เวิร์ดที่ซื้อก็อาจเหมือนหรือแตกต่างกันได้ด้วย หลังจากแบ่งแคมเปญแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือแบ่ง “Ad Group” ในแคมเปญนั้นอีกที เพื่อกำหนดกลุ่มเป้าหมายและพื้นที่ จากนั้นจึงค่อยกำหนดคีย์เวิร์ดที่จะซื้อตามนั้นต่อไป ซึ่งในความเป็นจริงตัวเสิร์ชเอนจินก็มีตัวช่วยให้ทำขั้นตอนพวกนี้ได้ง่ายขึ้นผ่านทาง Google Keyword Planner ดังที่ได้อธิบายไปแล้วด้านบน
PPC ไม่เท่ากับ Organic
แน่นอนว่าเมื่อมีของที่ต้องเสียเงินซื้อ ก็ย่อมมีของฟรี ออร์แกนิก (Organic) ก็คือ ยอดผู้เข้าชมเว็บไซต์ที่เราไม่ได้จ่ายเงินเพื่อเข้าถึง แต่เกิดจากการที่เว็บไซต์ของเรามีคุณภาพ และตอบสนองความต้องการของคนที่ค้นหาคำนั้น ๆ ได้ ทำให้มีคนเข้ามาเยี่ยมชมเรื่อย ๆ และเกิดทราฟฟิก (Traffic) โดยที่เราไม่ต้องเสียเงินเพื่อโฆษณา
PPC และ Organic กล่าวอีกอย่างก็คือการตลาดแบบผลักและดึงมีความแตกต่างกันตรงที่ PPC หรือการตลาดแบบผลัก จะเน้นสร้างยอดผู้เข้าชม พยายามทำการตลาดไปสู่คนจำนวนมาก เพื่อสร้างผลกำไรจากยอดขายกลับมาสู่ตัวเจ้าของเว็บไซต์ ขณะที่ออร์แกนิกหรือการตลาดแบบดึง จะเน้นการแชร์และการมีส่วนร่วมมากกว่ายอดผู้เข้าชม ไม่เน้นการเป็นกระแสแต่เน้นให้มีคนพูดถึงอยู่ตลอดเวลา และรับฟังความต้องการของผู้บริโภคมากกว่านำเสนอโปรโมชัน
ไม่ว่าจะเป็น SEO ที่เป็นการตลาดแบบเน้นความออร์แกนิก หรือ SEM ที่เน้นจ่ายเงินเพื่อซื้อพื้นที่บนโลกออนไลน์ แต่สิ่งสำคัญที่เจ้าของธุรกิจทุกคนต้องคำนึงถึงก่อนจะทำธุรกิจบนเว็บไซต์ คือความมีคุณภาพของเนื้อหาและการใช้งานที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้จริง และควรคิดเสมอว่ายอดผู้เข้าชมนั้นเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีในการทำการตลาด แต่ถ้าหากผู้บริโภคไม่ชอบเว็บไซต์ของเรา สุดท้ายแม้จะมีเงินก็ไม่สามารถซื้อซื้อความสำเร็จได้อยู่ดี