ทรานส์มีเดียคืออะไร มันคือสื่อที่มีหลาย ๆ แพลตฟอร์มหรือเปล่า หรือมันคือเรื่องราวที่เล่าผ่านหลาย ๆ สื่อหรือเปล่า เหมือนเราจะมาถูกทางกันแล้วนะ มาหาคำตอบเพิ่มกันดีกว่า
ทรานส์มีเดียคืออะไรกันแน่
ทรานส์มีเดียนั้นไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในกล่อง เช่นเดียวกับมนุษย์เรา มันมีอยู่มานานแล้วแต่เพิ่งจะมาเป็นที่นิยมในแวดวงสื่อและการทำการตลาด คำจำกัดความของ “ทรานส์มีเดีย” (Transmedia) หมายถึงสื่อที่มีวิธีการผลิตที่หลากหลาย วิธีการเผยแพร่ที่หลากหลาย และวิธีที่ผู้รับสารสามารถโต้ตอบได้อย่างหลากหลาย เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับประสบการณ์ใหม่ ๆ
ทำไมทรานส์มีเดียจึงสำคัญ
สิ่งที่คอยขับเคลื่อนให้ทรานส์มีเดียเกิดการพัฒนาเช่นเดียวกับสิ่งอื่น ๆ คือความต้องการ ผู้รับสารยุคดิจิทัลในปัจจุบันมองว่า “สื่อ” มีอิทธพลกับการเข้าสังคมอย่างมาก พวกเขายังคาดหวังว่าจะมีการปรับแต่งให้สามารถใช้ได้กับอุปกรณ์ดิจิทัลชิ้นไหนก็ได้ที่พวกเขามี และต้องทำให้พวกเขาได้มีส่วนร่วมได้ด้วย
อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ทรานส์มีเดียพัฒนาได้เร็วคือการแข่งขัน แต่ละธุรกิจต่างแข่งกันแย่งชิงลูกค้า การโฆษณาและการตลาดจึงจะจำกัดอยู่แค่ไม่กี่ช่องทางไม่ได้อีกต่อไป คุณต้องมีพื้นที่สื่อบนหลาย ๆ แพลตฟอร์มถ้ายังอยากอยู่ในเกม ไม่ว่าจะเป็นสื่อที่ผู้รับสารสามารถมีปฏิสัมพันธ์ได้หรือประสบการณ์ร่วมได้ หรือจะเป็นการเขียนเรื่องราวใหม่ ๆ เพื่อต่อยอดจากเรื่องราวเดิม ๆ แม้แต่ตัวกล่องบรรจุภัณฑ์เอง หรือโซเชียลมีเดีย เป็นต้น
อันที่จริงแล้วในโลกของภาพยนตร์เองก็มีการใช้ทรานส์มีเดียมาสักพักแล้ว อย่างภาพยนตร์ที่เป็นมหากาพย์ (Saga) หลาย ๆ เรื่องมักจะมีภาคแยกหรือสปินออฟ (Spin-off) ในรูปแบบของซีรีส์ การ์ตูนคอมมิก หรือการตูนแอนิเมชัน บนแพลตฟอร์มต่าง ๆ ซึ่งภาคแยกเหล่านั้นจะเล่าเรื่องราวของตัวมันเอง และสามารถดูได้โดยที่ไม่ต้องดูตัวภาพยนตร์เนื้อเรื่องหลักมาก่อน แต่ในขณะเดียวกันก็จะมีรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่สามารถเชื่อมเข้ากับเนื้อเรื่องหลักได้ ไว้สำหรับเหล่าแฟนผู้คลั่งไคล้ทั้งหลาย
การใช้ทรานส์มีเดียให้เกิดประโยชน์สูงสุด
มีหลายอย่างที่เราต้องคำนึงเมื่อต้องผลิตคอนเทนต์เพื่อการโฆษณาและการตลาด ช่องทางที่ต่างการก็มีช่วงการดึงดูดความสนใจที่ต่างกัน เวลาที่ผลิตคอนเทนต์ลงเฟซบุ๊กต้องคำนึงไว้ว่าคนชอบคอนเทนต์ที่มีความยาวไม่ยาวมาก ส่วนบนยูทูบสามารถทำได้ยาวกว่าหน่อย แต่ถ้าบนอินสตาแกรมหรือติ๊กต็อกต้องยิ่งสั้นเลย! นี่เราพูดถึงแค่คอนเทนต์แบบวิดีโอนะ ถ้าเป็นรูปภาพ อินโฟกราฟิกหรือ อีเมลอีดีเอ็ม (EDM) ก็ใช้เกณฑ์การพิจารณาอีกส่วน โดยพื้นฐานแล้วท่ามกลางยุคดิจิทัลเช่นนี้ ทรานส์มีเดียทำให้คุณสามารถส่งสารชุดเดียวกันบนแพลตฟอร์มดิจิทัลที่หลากหลาย เพียงพอต่อความต้องการและตอบโจทย์ผู้รับสาร
ทำความเข้าใจกันอีกสักหน่อย
ระวังสับสนกันด้วยล่ะ หลาย ๆ คนเกิดความสับสนระหว่างคำสามคำ ทรานส์มีเดีย (Transmedia) มัลติมีเดีย (Multimedia) และครอสแพลตฟอร์ม (Cross-platform)
เราเริ่มจากคำว่าครอสแพลตฟอร์มกันก่อนดีกว่า ซึ่งจะเป็นเรื่องของช่องทางส่งสาร อย่างเช่นภาพยนตร์หนึ่งเรื่องจะเข้าฉายในโรงภาพยนตร์เป็นระยะเวลาประมาณหนึ่ง และท้ายที่สุดก็จะสามารถรับชมได้ผ่านแอปพลิเคชันเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) และทำผ่านดีวีดี (DVD) ขาย แบบนี้เรียกว่าการจัดจำหน่ายแบบครอสแพลตฟอร์ม เนื้อหาเป็นเนื้อหาเดียวกันแต่เข้าถึงได้ผ่านหลายช่องทาง
ส่วนมัลติมีเดียคือเวลาเราอยู่บนแพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มหนึ่ง เช่น เว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชัน บนนั้นอาจมีคอนเทนต์หลายรูปแบบ เช่น เสียง ตัวหนังสือ วิดีโอ หรือแม้แต่สภาวะจำลอง และสำหรับทรานส์มีเดีย จะเป็นการส่งออกประสบการณ์เหล่านั้นทั้งหมดไปบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ ทำให้ผู้รับสารได้มีโอกาสมรส่วนร่วมในการหาข้อมูลชิ้นต่าง ๆ และนำมาประกอบกัน
สุดท้ายแล้วทรานส์มีเดียนั้นไม่ได้อยู่ที่ว่ามีแพลตฟอร์มหรือรูปแบบสื่อมากแค่ไหน แต่เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ของแต่ละแพลตฟอร์ม สื่อแต่ละรูปแบบสามารถเล่าเรื่องให้จบในตัวมันเองได้ แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถประกอบกันเป็นภาพรวมที่ไปในทางเดียวกันได้ และที่สำคัญที่สุด สื่อแต่ละรูปแบบจะทำให้คุณมีส่วนร่วมในการค้นหาเรื่องราวและข้อมูลอย่างกระตือรือร้น นี่แหละคือทรานส์มีเดีย