SEO เบื้องต้นสำหรับมือใหม่

SEO คืออะไร

“SEO” หรือ Search Engine Optimization คือกลยุทธ์ทางการตลาดดิจิทัลรูปแบบหนึ่งที่ช่วยเพิ่มยอดผู้เข้าชมโดยทำให้เว็บไซต์ของเราขึ้นเป็นอันดับต้น ๆ บนหน้าเสิร์ชเอนจิน (Search Engine) ช่วยให้มีโอกาสที่คนจะกดเข้ามาดูมากขึ้น การทำการตลาดดิจิทัลมี 2 รูปแบบหลัก ๆ ได้แก่ SEO และ SEM โดย SEO จะเป็นวิธีที่ดึงคนเข้าเว็บไซต์อย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ผ่านการโฆษณาหรือโปรโมตใด ๆ และไม่ต้องเสียเงินเพื่อเพิ่มยอดผู้ชม แต่ในขณะเดียวกันการทำ SEM หรือการจ่ายเงินเพื่อซื้ออันดับที่ดีบนพื้นที่ออนไลน์ก็ยังจำเป็นอยู่ ซึ่งการตลาดทั้งสองวิธีนี้ก็ล้วนมีเป้าหมายและกระบวนการทำงานที่ต่างกันไป

ปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการทำ SEO คือการทำเนื้อหาในเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ ส่วนนี้มักจะต้องใช้เวลาและความพยายามมากกว่า SEM แต่เมื่อประสบความสำเร็จในการทำ SEO แล้ว ก็มั่นใจได้ว่าเว็บไซต์จะคงอยู่ในอันดับที่ดีได้อย่างยั่งยืนกว่าการจ่ายเงินเพื่อโฆษณาแน่นอน

สิ่งที่สำคัญไม่ได้มีเพียงแค่เนื้อหาบนเว็บไซต์เท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยอีกหลายอย่างที่ต้องนำมาพิจารณาในการทำการตลาดเพื่อให้เว็บไซต์ได้อันดับที่ดีขึ้น และถ้าเรารู้ว่าปัจจัยเหล่านั้นมีอะไรบ้าง เราก็จะเข้าใจหลักการทำงานของ SEO ได้อย่างทะลุปรุโปร่ง การจะทำแบบนั้นได้ เราควรต้องรู้ที่มาที่ไปทั้งหมดก่อนว่าตัวแปรแต่ละตัวนั้นถูกพัฒนามาอย่างไร เพื่อที่ในอนาคตเราจะได้คาดการณ์ได้ว่าในอนาคตจะมีการแสใหม่อะไรเพิ่มขึ้นมาบ้าง และเตรียมตัวรับมือได้ทันท่วงที

ในบทความนี้เราจะมาดู วิวัฒนาการของ SEO มาเริ่มต้นจากการเข้าใจพื้นฐานของการทำ SEO และ algorithm ของ search engine ถ้าสนใจกระโดดข้ามไปดูเนื้อหาที่ advance ขึ้นในด้านของกลยุทธ์ของการทำ SEO แนะนำให้ศึกษาเรื่องของ search intent สำหรับการแต่งบทความ

วิวัฒนาการของ SEO จากอดีตถึงปัจจุบัน

ย้อนกลับไปในปีค.ศ. 1991 เว็บไซต์เว็บแรกได้ถือกำเนิดขึ้นบนโลก แต่ในสมัยนั้นการดึงเว็บไซต์ต่าง ๆ มาแสดงผลให้เห็นบนหน้าจอต้องอาศัยการทำ “Data Mapping” เพื่อจัดหมวดหมู่ให้รู้ว่าหน้านี้เป็นเว็บที่เกี่ยวข้องกับอะไร เมื่อเวลาผ่านไป เว็บไซต์ก็เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ จนแค่การทำ Data Mapping นั้นไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว กูเกิลเป็นบริษัทแรกที่พัฒนาระบบอัลกอริทึมขึ้นเพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถค้นหาเว็บไซต์จากหน้าเสิร์ชเพียงหน้าเดียวได้ ระบบจะช่วยตรวจหาและจัดอันดับเนื้อหาจากเว็บที่เกี่ยวข้องให้เอง โดยที่อัลกอริทึมแต่ละตัวก็มีหน้าที่ไม่เหมือนกัน ถ้าหากเราเข้าใจหน้าที่ของระบบคอมพิวเตอร์เหล่านี้ ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จในการทำการตลาดได้

ทำความรู้จักกับระบบอัลกอริทึมของ Google

1.Penguin

อัลกอริทึมเพนกวินมีหน้าที่หลักคือให้คะแนนความน่าเชื่อถือของแบ็กลิงก์ (Backlink) ที่อยู่ในเว็บไซต์ แบ็กลิงก์ที่ว่านี้คือลิงก์ภายในเว็บของเราที่กดแล้วโยงไปหาเว็บอื่นหรือลิงก์จากเว็บอื่นที่โยงเข้าสู่เว็บของเรานั่นเอง กูเกิลสามารถตรวจจับได้ถ้าเราซื้อหรือแลกลิงก์มาจากที่อื่น ดังนั้นเราจึงควรเชื่อมลิงก์ต่าง ๆ ในหน้าเว็บอย่างเป็นธรรมชาติ โดยเชื่อมเฉพาะส่วนที่น่าจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้อ่าน และไม่ให้มีลิงก์เยอะจนเกินไป ไม่เช่นนั้นก็อาจจะถูกลดคะแนนความน่าเชื่อถือได้ นอกจากนี้ ถ้าหากเว็บอื่นที่โยงมาหาเรานั้นเป็นเว็บที่น่าเชื่อถือมาก อย่างเช่นเว็บประเภท YMYL (Your Money Your Life – เว็บที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของประชาชนจริง ๆ) ได้แก่ ธนาคาร โรงพยาบาล โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย องค์กรที่น่าเชื่อถือ ฯลฯ ก็จะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้เราได้

2.Panda

อัลกอริทึมแพนด้ามีหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพของเนื้อหาบนเว็บไซต์ เช่น เนื้อหามีความยาวแค่ไหน ซึ่งปกติผลงานชิ้นหนึ่งควรเขียนให้เกิน 1,500 คำเป็นอย่างต่ำ แพนด้ายังคอยตรวจสอบความน่าเชื่อถือของผู้เขียนว่ามีความเชี่ยวชาญในหัวข้อที่เขียนมากน้อยเพียงใด นอกจากนี้ยังตรวจสอบไวยากรณ์ การสะกดคำ รวมถึงวิเคราะห์ว่าระดับเนื้อหานั้นเหมาะสมกับกลุ่มผู้ชมที่เป็นเป้าหมายหรือไม่ เนื้อหาที่ถูกทำซ้ำหรือคัดลอกมาจึงมีโอกาสถูกตรวจจับโดยอัลกอริทึมตัวนี้ และส่งผลให้อันดับของเว็บไซต์ต่ำลงได้

3.Rank Brain

ระบบนี้แตกต่างจากตัวอื่นเนื่องจากเป็นปัญญาประดิษฐ์ ไม่ใช่ระบบอัลกอริทึม งานของมันคือการคอยเช็คพฤติกรรมของคนที่เข้าเว็บว่าใช้ฟังก์ชันอะไรบ้างและอยู่บนเว็บนานแค่ไหน เพื่อให้แน่ใจว่าคนไม่ได้แค่คลิกเข้ามาแล้วก็ออกไปเฉย ๆ เพราะหาสิ่งที่พวกเขาต้องการไม่ได้จากเว็บไซต์ของเรา

เมื่อเข้าใจหลักการทำงานของระบบอัลกอริทึมบางส่วนของกูเกิลแล้ว จะเห็นได้ว่าระบบคอมพิวเตอร์เหล่านี้ซับซ้อนและฉลาดกว่าที่เห็น ดังนั้นสิ่งต่อไปนี้จึงเป็นตัวอย่างที่ไม่ควรปฏิบัติในการทำ SEO

  •  การซ้ำคำ

ซ้ำคำเดิมเพื่อให้คนเสิร์ชแล้วหาเว็บไซต์เจอง่ายขึ้น ตัวอย่างเช่น เว็บไซต์เป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับเค้ก เนื้อหาในเว็บจึงซ้ำคำว่า “เค้ก เค้ก เค้ก” ไปหลาย ๆ ครั้ง ซึ่งไม่เพียงแต่จะสร้างความรำคาญให้ผู้อ่านเท่านั้น แต่อัลกอริทึมของกูเกิลก็จะคิดว่าเป็นข้อความที่ไม่มีประโยชน์อีกด้วย

  • ใช้แบ็กลิงก์มั่ว

จ่ายเงินจ้างให้เว็บไซต์อื่น ๆ โยงลิงก์มาที่เว็บของเรา โดยที่บางทีเนื้อหาในเว็บก็ไม่เกี่ยวข้องกันเลยและหลักสำคัญที่สุด คือการที่เราต้องทำเว็บให้คนอ่าน ไม่ใช่ให้กูเกิลอ่าน

อะไรบ้างที่ช่วยให้ทำ SEO ประสบความสำเร็จ?

ระบบอัลกอริทึมต่าง ๆ ด้านบนเป็นแค่หลักเบื้องต้นไม่กี่อย่างและตัวอย่างง่าย ๆ ในการทำ SEO เท่านั้น นั่นหมายความว่ามีปัจจัยอีกหลายอย่างที่จะทำให้กลยุทธ์การตลาดของเราได้ผลดียิ่งขึ้น ตารางด้านล่างนี้เป็นตารางแสดงตัวแปรสำคัญต่าง ๆ ที่จะช่วยเพิ่มหรือลดคะแนนอันดับของเรา และช่วยให้เข้าใจระบบการจัดอันดับบนเสิร์ชเอนจินได้ง่ายขึ้นด้วย

จะเห็นได้ว่าตารางนี้มี 6 แถวทางซ้ายมือ และอีก 2 ส่วนใหญ่ ๆ ทางด้านขวา แต่ละช่องเป็นตัวแปรที่มีคะแนนทั้งบวกและลบ ยิ่งบวกมากเท่าไหร่ก็หมายความว่าจะได้อันดับดีขึ้นเท่านั้น ตัวแปรที่อยู่บนสุดให้คะแนนเยอะที่สุด ขณะที่ตัวแปรที่อยู่ต่ำสุดก็ให้คะแนนน้อยที่สุดลดหลั่นลงมา แต่ละช่องมีความหมายและความสำคัญดังต่อไปนี้

แถวที่ 1 – Content

แถวแรกเป็นตัวแปรที่เกี่ยวกับเนื้อหาในเว็บไซต์ จะเห็นได้ว่าตัวแปรบนสุดที่ได้คะแนนมากที่สุดคือต้องมี เนื้อหาที่มีคุณภาพ เป็นข้อมูลเชิงลึกในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง และต้องเรียบเรียงมาอย่างดีแล้ว ส่วนตัวแปรอื่น ๆ คือ มีการอ้างอิง มีสื่อมัลติมีเดียให้คนปฏิสัมพันธ์ได้ (เช่น รูป วิดีโอ) และข้อมูลมีความสดใหม่ ซึ่งทั้งหมดในหัวข้อนี้ก็แค่ต้องการให้เราผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพและตอบสนองความต้องการของผู้ชมได้เท่านั้นเอง

แถวที่ 2 – Architecture

แถวที่ 2 เป็นเรื่องของโครงสร้างเว็บไซต์ ตัวแปรแรกคือสิ่งที่เรียกกันว่า “Crawl” ซึ่งหมายถึงระดับความยากง่ายทางเทคนิคที่ระบบคอมพิวเตอร์จะเข้าใจได้ว่าเว็บไซต์ของเราเกี่ยวข้องกับอะไร ยกตัวอย่างเช่น ภาษา HTML และ CSS นอกจากนี้อีกตัวแปรหนึ่งที่ให้คะแนนเยอะเช่นเดียวกันก็คือการที่เว็บไซต์ตอบสนองและอ่านได้ง่ายเมื่อเข้าใช้งานผ่านโทรศัพท์มือถือ

แถวที่ 3 – HTML

คือการเขียนอธิบายว่าเนื้อหาในเว็บไซต์เราเกี่ยวกับอะไรบ้างโดยใช้คีย์เวิร์ด

แถวที่ 4 – Trust

การจะทำให้เสิร์ชเอนจินเชื่อว่าเว็บไซต์นั้นน่าเชื่อถือ คือการมีแบ็กลิงก์ที่มีคุณภาพ รวมถึงการที่มีคนแชร์และแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความหรือเนื้อหาอยู่เสมอ นอกจากนั้นระยะเวลาที่คนใช้งานก็สำคัญเช่นกัน ยิ่งนานก็ยิ่งเป็นผลดี เพราะนั่นหมายถึงผู้ชมค้นพบสิ่งที่พวกเขาค้นหาภายในเว็บนั้น ๆ

แถวที่ 5 – Link

ยิ่งมีลิงก์จากเว็บไซต์อื่นที่น่าเชื่อถือโยงเข้าสู่เว็บไซต์ของเรามากเท่าไหร่ ก็หมายความว่าเว็บเราน่าเชื่อถือมากตามไปด้วย

แถวที่ 6 – User

ประเทศที่อยู่ของผู้ใช้งาน ตลอดจนเมือง รัฐ ฯลฯ ก็มีผลต่ออันดับของเว็บไซต์เราเช่นกัน ควรให้ความสำคัญกับประสบการณ์ที่ผู้ใช้งานได้รับขณะชมเว็บของเรา ไม่ว่าจะเป็นภาษา หน้าตาของเว็บ หรือฟังก์ชันในการใช้งานและการตอบสนองต่าง ๆ เพราะถ้าคนได้รับประสบการณ์ในการใช้งานที่ไม่ดี เขาก็จะใช้เวลาอยู่บนหน้าเว็บของเราน้อยลง ควรจะคงสิ่งเดิมที่คนชอบไว้ และพยายามคาดการณ์ว่าผู้ใช้งานตั้งใจจะหาอะไรจากเว็บไซต์เรา

ส่วนด้านขวาบน – Toxin คือสิ่งที่ไม่ควรทำ

ส่วนนี้จะเพิ่มเติมสิ่งที่ไม่ควรทำจากด้านบนเล็กน้อย คือเราไม่ควรทำการ “Cloaking” ซึ่งหมายถึงทำเว็บไซต์ไม่ตรงกับสิ่งที่ผู้ใช้งานสมควรจะได้จากการค้นหา เช่น เว็บไซต์ที่ควรเกี่ยวกับความสวยความงาม แต่กดเข้าไปกลายเป็นเว็บพนัน และอีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรทำ ก็คือการซื้อแบ็กลิงก์ดังที่ได้กล่าวถึงไปแล้ว แต่ถึงอย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีสิ่งที่ไม่ควรทำมากมาย แต่จุดประสงค์สำคัญของข้อห้ามเหล่านี้ ก็เพียงแค่ต้องการให้เจ้าของธุรกิจทำเว็บไซต์ตามหลักสามัญสำนึก และตรรกะความคิดพื้นฐานทั่วไปเท่านั้น

ส่วนด้านขวาล่าง – Emerging Verticals

เข้าสู่ปี 2020 เทคโนโลยีเริ่มสามารถเข้ามาช่วยทุ่นแรงในหลาย ๆ เรื่อง ประกอบกับเป็นยุคที่ทุกอย่างต้องทันใจ ผู้คนต้องการได้ข้อมูลที่รวดเร็ว ภาพและวิดีโอตอบสนองความต้องการในส่วนนี้ได้ เนื่องจากเป็นสื่อที่ย่อยง่าย แค่เห็นไม่นานก็เข้าใจ นอกจากนี้พฤติกรรมของคนที่เปลี่ยนไป ยังทำให้เกิดการค้นหาและใช้งานด้วยคำสั่งเสียง อย่างเช่นบน สิริ กูเกิล หรืออเล็กซา เป็นต้น

เครื่องมือที่ใช้ทำ SEO

ถึงแม้การทำ SEO ให้ประสบความสำเร็จได้มันอาจจะดูเหมือนกับมีกฎกติกามากมาย แต่นอกจากข้อควรระวังเหล่านั้นแล้ว เรายังต้องเรียนรู้เกี่ยวกับเครื่องมือที่ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลและพัฒนากลยุทธ์การทำการตลาดของเราด้วย เครื่องมือพวกนี้ช่วยให้เรารู้ว่าตัวแปรไหนที่ควรพัฒนา และตัวแปรไหนที่ทำได้ดีแล้ว ตัวอย่างเครื่องมือที่เป็นที่นิยมและมีความสำคัญในการทำการตลาด ได้แก่

Ahrefs

เครื่องมือนี้จะช่วยแสดงข้อมูลต่าง ๆ ในภาพรวมให้เราได้เห็น เพื่อนำไปวางแผนทำ SEO ต่อไป แสดงได้ทั้งรายงานสถิติทราฟฟิกและข้อมูลเว็บไซต์ของเราแบบออร์แกนิก ยกตัวอย่างเช่น Backlink, Organic Keywords หรือ Organic Traffic เป็นต้น ทำให้เรารู้ว่าที่มาของคนที่เข้าชมเว็บไซต์นั้นมาจากไหน และควรพัฒนายังไงให้มีคนเข้าชมมากขึ้น นอกจากนี้ อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าแบ็กลิงก์เป็นสิ่งสำคัญ Ahrefs เองก็ช่วยวิเคราะห์การทำงานของแบ็กลิงก์ต่าง ๆ ภายในเว็บของเราด้วยเช่นกัน ทั้งยังสามารถนำข้อมูลไปเปรียบเทียบกับคู่แข่งได้ด้วย

Screaming Frog

เครื่องมือชิ้นนี้อาจจะมีรูปลักษณ์ที่ดูไม่ค่อยน่าใช้งานเท่าไหร่นัก แต่กลับเป็นเครื่องมือที่มืออาชีพด้านการตลาดนิยมใช้กันมาก จุดประสงค์ของมันคล้าย ๆ กับ Ahrefs คือช่วยดูภาพรวมของแผน SEO แต่ Screaming Frog จะได้ข้อมูลเกี่ยวกับลิงก์ที่เป็นเชิงลึกมากกว่า และยังช่วยวิเคราะห์ส่วนของชื่อและคำอธิบายบทความหรือเนื้อหาด้วยว่าสั้นหรือยาวไปสำหรับคีย์เวิร์ดที่เราตั้งไว้

ข้อดีและข้อเสียของ SEO

ทุกสิ่งย่อมมีทั้งขาวและดำอย่างที่เรารู้กัน จะเห็นได้ว่าการทำ SEO นั้นค่อนข้างต้องทุ่มเทแรงกายแรงใจมาก เนื่องจากมีปัจจัยและตัวแปรหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งยังเปลืองเวลาและไม่ได้เห็นผลได้เร็วทันใจขนาดนั้น ดังนั้นถ้าอยากได้ผลลัพธ์แบบฉับไว การทำ SEM ซึ่งเป็นการตลาดแบบจ่ายเงินเพื่อโฆษณาก็อาจจะตอบสนองความต้องการได้ดีกว่า แต่ในขณะเดียวกัน SEO ก็ได้เปรียบกว่ามากในแง่ของการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับกลุ่มผู้ใช้งาน ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า SEO นั้นยั่งยืนและอยู่ได้นานกว่าแน่นอน