เคยสงสัยกันไหมว่าทำไมเราจึงเจอ ลิงก์ที่ลักษณะเป็น “Shorten URL” ในโพสต์บนโซเชียลมีเดีย หรือบนเว็บไซต์ต่าง ๆ อยู่บ่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็น bit.ly, goo.gl หรือ shorturl.at เป็นต้น แน่นอนว่าประโยชน์ของลิงก์เหล่านี้คือการย่อ URL ให้สั้นลงอยู่แล้ว แต่หลายคร้ังลิงก์แบบสั้นก็ถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือทางการตลาดด้วยเช่นกัน พวกเราทีม Enabler จะพาทุกท่านไปไขความลับเบื้องหลังลิงก์ต่าง ๆ ที่เราคลิกกันอยู่แทบทุกวันในบทความนี้ ว่าเกี่ยวข้องกับ UTM อย่างไร
UTM คืออะไร เกี่ยวข้องอย่างไรกับลิงก์และ URL
ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า UTM ในการทำการตลาดนั้นไม่ใช่แบบเดียวกับที่ใช้ระบุพิกัดทางภูมิศาสตร์อย่างที่หลายคนคุ้นชินกัน แต่ย่อมาจาก “Urchin Tracking Module” มีลักษณะเป็นโค้ดสั้น ๆ ที่ใส่ต่อท้ายที่อยู่เว็บไซต์ เมื่อมีการคลิกลิงก์ที่ใส่โค้ดดังกล่าวไว้ เราจะสามารถติดตามดูข้อมูลได้ว่าต้นทางถูกคลิกมาจากที่ไหน เว็บไซต์ชื่ออะไร ผ่านสื่อใด ตลอดจนสามารถติดตามพฤติกรรมการใช้งานได้ว่ายูสเซอร์เจ้าของคลิกนั้นใช้เวลาอยู่บนเว็บไซต์นานแค่ไหน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะถูกเก็บเป็นสถิติไว้ใน Google Analytics Report ให้เราสามารถเปิดดูได้ตลอดเวลา เรียกได้ว่าเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่ทำงานได้สมชื่อ “Tracking Module” เลยทีเดียว เพราะเจ้าเครื่องมือนี้สามารถติดตามปฏิสัมพันธ์ทุกอย่างที่ยูสเซอร์ทำกับลิงก์ได้ทั้งหมด
อธิบายแค่คำจำกัดความ หลายคนอาจจะยังไม่เห็นภาพว่าจริง ๆ แล้ว UTM หน้าตาเป็นอย่างไรกันแน่ จึงขอแนบตัวอย่างที่ทีม Enbaler เคยทำมาให้ดูประกอบ
สังเกตในกรอบสีแดงด้านหลังเครื่องหมายคำถาม (?) จะเห็นโค้ดหน้าตาแปลก ๆ ที่อ่านออกบ้าง ไม่ออกบ้าง ส่วนนั้นคือสิ่งที่เราเรียกกันว่า UTM จากโค้ดนี้ สามารถแปลความหมายเป็นภาษามนุษย์ได้ดังนี้
- utm_source คือ ที่มาของลิงก์ที่เราต้องการจะแทร็ค ถ้าหากมีคนคลิกลิงก์ เราจะสามารถรู้ได้ว่ายูสเซอร์คนนั้นคลิกมาจากแพลตฟอร์มไหน เช่น เว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย หรืออีเมล์ แบบเดียวกับในตัวอย่าง “utm_source=edm” หมายถึงลิงก์นี้ถูกคลิกมาจากสื่อ EDM หรือการทำการตลาดผ่านอีเมล์นั่นเอง
- utm_medium คือ รูปแบบหรือประเภทของคลิกที่เราต้องการจะแทร็ค หรือกล่าวอีกอย่างก็คือ ส่วนที่ย่อยลงมาจาก Source เช่น บทความ โพสต์ โฆษณา ออร์แกนิก กิจกรรมทางการตลาดดิจิทัลต่าง ๆ เป็นต้น ส่วนนี้อาจจะเข้าใจยากสักหน่อย แต่ถ้าหากยกตัวอย่างโพสต์บนเฟสบุ๊กขึ้นมา หลาย ๆ คนคงจะร้องอ๋อ สมมติว่าเราติดโค้ดเพื่อติดตาม Source แค่อย่างเดียว เราก็จะทราบแค่ว่ามีคนคลิกลิงก์มาจากเฟสบุ๊ก แต่ไม่อาจทราบได้ว่าลิงก์นั้นถูกคลิกมาจากโพสต์ไหน เป็นโพสต์ธรรมดาทั่วไป หรือเป็นโพสต์ที่จ่ายเงินเพื่อบูสต์ ดังนั้นการใส่ Medium จึงเป็นเหมือนการบอกที่มาของการคลิกอย่างละเอียดมากขึ้น ดังเช่นในตัวอย่าง “utm_medium=product launch” หมายถึงลิงก์นี้ถูกคลิกมาจากการโปรโมทผลิตภัณฑ์ใหม่ ผ่านการตลาดทางอีเมล์ (EDM)
- utm_campaign คือ ชื่อแคมเปญของ URL นั้น บางครั้งเราไม่ได้ต้องการทราบแค่มีคนคลิก ‘ลิงก์ A จากเว็บไซต์ B’ แต่เราต้องการทราบด้วยว่าลิงก์ A ที่ว่าอยู่ภายใต้แคมเปญอะไร เช่น 2020 Mid-year sale, July paid media เป็นต้น
นอกจากโค้ดข้างต้นแล้ว การทำ UTM ยังสามารถติดโค้ดอื่น ๆ เพื่อแบ่งแยกประเภทของข้อมูลให้ละเอียดมากขึ้นไปอีก เช่น utm_content ใช้บอกว่าคอนเทนต์ในลิงก์เกี่ยวกับอะไร หรือ utm_term ใช้บอกว่าในลิงก์มีคีย์เวิร์ดอะไรบ้าง เป็นต้น แต่โดยเบื้องต้นมักจะใช้แค่ Source, Medium และ Campaigm เป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากเป็น 3 อย่างที่สามารถเห็นได้ง่ายบนหน้าข้อมูลของ Google Analytics
อย่างที่บอกว่า Urchin Tracking Module คือการใส่โค้ดต่อท้าย URL เพื่อใช้จำแนกประเภทของทราฟฟิกที่เข้าสู่เว็บไซต์ ดังนั้นยิ่งจำแนกละเอียดเท่าไหร่ ที่อยู่เว็บไซต์ก็จะยิ่งยาวขึ้นเท่านั้น เมื่อเรานำไปแปะในคอนเทนต์ ก็อาจทำให้ผู้อ่านรู้สึกไม่อยากกดลิงก์ยาว ๆ ได้ อีกทั้งยังเปลืองพื้นที่ และทำให้คอนเทนต์ของเราดูรกอีกด้วย ทางออกของปัญหานี้ ก็คือการใช้ Shorten URL นั่นเอง นี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมหลายครั้งเราจึงได้เห็น bit.ly, goo.gl หรือลิงก์แบบสั้นอื่น ๆ ปรากฎอยู่ในโพสต์บนโซเชียลมีเดีย หรือบทความบนเว็บไซต์บ่อย ๆ หากคลิกเข้าไปแล้วมีโค้ดที่ประกอบด้วยคำว่า “utm_” ต่อท้าย ก็รู้ได้ทันทีว่าเจ้าของลิงก์ต้องการติดตามพฤติกรรมการคลิกของเรานั่นเอง
แล้วจะใช้งาน UTM ด้วยตัวเองได้อย่างไร
สำหรับคนที่เป็นมือใหม่หัดทำการตลาด สามารถใช้เครื่องมือสำเร็จรูปสร้างยูทีเอ็มได้ตามเว็บไซต์ฟรี เช่น URL Builder ของกูเกิลและเฟสบุ๊ก หรือถ้าใช้เครื่องมือจนคล่อง จำรูปแบบต่าง ๆ ได้แล้ว ก็สามารถพิมพ์โค้ดต่อท้ายที่อยู่เว็บไซต์ด้วยตัวเองได้เช่นกัน ส่วนวิธีใช้งานก็แค่นำลิงก์ที่ติดโค้ดแล้ว ไปวางบนโพสต์ บทความ โฆษณา หรือที่ใดก็ตามบนสื่อออนไลน์ที่เราต้องการให้เกิดทราฟฟิกสู่เว็บไซต์ เมื่อมีคนคลิกเข้าลิงก์ดังกล่าว ข้อมูลที่เราติดตามก็จะถูกส่งไปบันทึกไว้ใน Google Analytics โดยอัตโนมัติ
นอกจากใช้จำแนกทราฟฟิกบนเว็บไซต์ Urchin Tracking Module ยังมีประโยชน์ในการช่วยวัดผลทางการตลาดดิจิทัล ในกรณีที่เราทำโฆษณาบนช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ เนื่องจากเป็นเครื่องมือที่ทำให้สามารถติดตามจำนวน Engagement ที่ผู้ชมมีต่อโฆษณานั้น ๆ ได้ ทำให้วัดประสิทธิภาพได้ง่ายขึ้น และช่วยให้เราปรับทิศทางในการทำธุรกิจให้สัมฤทธิ์ผลมากกว่าเดิม
ศึกษาเรื่อง UTM กันไประดับหนึ่งแล้ว หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้หลาย ๆ คนเข้าใจวิธีทำการตลาดดิจิทัลมากขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้เครื่องมือนี้จะเป็นตัวเก็บข้อมูลที่สำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคือการนำข้อมูลที่ได้นั้นมาวิเคราะห์และปรับใช้กับการตลาดให้มีประสิทธิภาพ หากต้องการความช่วยเหลือด้าน Data Analytics และเครื่องมือดิจิทัลต่าง ๆ พวกเราทีม Enabler พร้อมช่วยเหลือด้วยบริการ Digital Helpdesk ที่คุณสามารถเลือกทำการตลาดสโคปเล็กได้อย่างต้องการ ภายใต้งบประมาณที่สมเหตุสมผล แล้วมาเริ่มต้น Go online ไปพร้อม ๆ กัน