ใครที่เคยศึกษาเกี่ยวกับการตลาดออนไลน์ คงจะพอคุ้นหน้าคุ้นตาชื่อ GTM มาบ้าง แต่อาจจะยังไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วเจ้าโปรแกรมนี้ทำอะไรได้มากกว่าที่เราคิด และถ้าหากใช้งานได้ถูกวิธี ก็สามารถกลายเป็นกุญแจสำคัญในการทำให้ธุรกิจ E-commerce ให้ประสบความสำเร็จได้เลยทีเดียว
ก่อนจะไปทำความรู้จักว่า GTM คืออะไร เราต้องมาทำความเข้าใจเรื่องพฤติกรรมผู้ใช้งานกันก่อนสักเล็กน้อย เวลาที่มีผู้ใช้งานเข้าชมเว็บไซต์ ไม่ว่าพวกเขาจะเลื่อนเม้าส์ คลิก หรือมองเห็นอะไรอยู่ก็ตาม พฤติกรรมการใช้งานเหล่านั้นนับเป็นข้อมูลสำคัญทางการตลาดทที่ช่วยให้เจ้าของธุรกิจเข้าใจได้ว่า คนส่วนใหญ่เข้ามาทำอะไร หรือสนใจส่วนไหนในเว็บไซต์มากที่สุด เมื่อรู้ข้อมูลตรงนี้แล้ว การพัฒนาหรือปรับเปลี่ยนเว็บไซต์ให้ตอบสนองความต้องการ และสร้างความพึงพอใจให้ผู้เข้าชมก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป
GTM คืออะไร
เดิมทีการติดตามพฤติกรรมการใช้งานของผู้เข้าชมเว็บไซต์นั้นจำเป็นต้องป้อนคำสั่งผ่านการเขียนโค้ด HTML ซึ่งมักเป็นหน้าที่ของฝ่ายพัฒนาเว็บไซต์ (Web Developer) หรือถ้าเจ้าของธุรกิจจะทำเอง ก็ต้องเข้าใจภาษาคอมพิวเตอร์ให้ได้เสียก่อน แต่เนื่องจากคนส่วนมากอาจจะเขียนโค้ดไม่เป็น อ่านภาษา HTML ไม่ได้นี่เอง จึงเกิดเครื่องมือที่เรียกว่า GTM ขึ้น
GTM หรือ Google Tag Manager เป็นเครื่องมือช่วยเหลือด้านการตลาดที่ Google ผลิตออกมาให้ใช้ได้ฟรี มีลักษณะเป็นบริการบนเว็บไซต์ เราสามารถเข้าไปตั้งค่าให้ระบบติดตามพฤติกรรมการใช้งานต่าง ๆ ด้วยตัวเองได้ จากนั้นเจ้าเครื่องมือนี้จะแปลงการตั้งค่าของเราให้เป็นภาษาคอมพิวเตอร์ แล้วจึงปรับใช้กับเว็บไซต์แบบอัตโนมัติ เพียงแค่เรานำโค้ดสั้น ๆ ไปแปะด้านบน HTML ของเว็บ เพื่อเป็นการอนุญาตให้ Tag Manager ทำงานได้ เท่านี้ก็สามารถเลือกปรับแต่งได้ตามใจชอบว่าจะติดตามการกระทำแบบไหนบ้าง โดยไม่จำเป็นต้องเขียนโค้ดเป็นเลยแม้แต่นิดเดียว อีกทั้งไม่ต้องคอยให้ทีมพัฒนาเว็บไซต์คอยแก้โค้ดบนเว็บไซต์ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลง
วิธีใช้ GTM ฉบับมือใหม่
หลักการทำงานของ Tag Manager นั้นแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่เรียกว่า ทริกเกอร์ (Triggers) ซึ่งคล้ายการป้อนคำสั่งว่าเราต้องการให้ระบบติดตามการกระทำอะไรบ้าง เช่น การดูหน้าใดหน้าหนึ่งในเว็บไซต์ การคลิก การเลื่อนเม้าส์ การกดดูคลิปวิดีโอ การกรอกฟอร์ม เป็นต้น อีกส่วนหนึ่งมีชื่อว่า แท็ก (Tags) เป็นตัวรับคำสั่งจากทริกเกอร์ที่เราได้ป้อนไปข้างต้น เมื่อผู้ใช้งานกระทำอะไรก็ตามที่ตรงกับเงื่อนไขที่เรากำหนดไว้ เช่น คลิกที่ปุ่มเพิ่มสินค้าลงตะกร้า หรือเลื่อนเม้าส์ลงมาดูหน้าโฮมมากกว่า 50% ทริกเกอร์จะทำงาน เมื่อทริกเกอร์ทำงาน แท็กก็จะถูกยิงออกไป เป็นเหมือนกับการแปะป้ายบอกไว้ว่า ‘การกระทำนี้ได้รับการบันทึกไว้ในระบบแล้วนะ’
เมื่อสร้างแอคเคาท์และเพิ่มเว็บไซต์ที่ต้องการให้มีการติดตามพฤติกรรมเรียบร้อยแล้ว จะสามารถเข้าสู่หน้าเมนู และเลือกตั้งค่าทริกเกอร์เบื้องต้นได้ ดังต่อไปนี้
- Page View ติดตามการดูเว็บไซต์ทุกหน้า หรือเฉพาะหน้าใดหน้าหนึ่งก็ได้
- Click – All Elements ติดตามการคลิกทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นคลิกรูปภาพ ลิงก์ หรือแม้แต่การคลิกพื้นที่ว่างที่ไม่ก่อให้เกิดอะไรขึ้นตามมาเลย
- Click – Just Links ติดตามการคลิกเฉพาะที่เป็นลิงก์เท่านั้น
- User Engagement – Element Visibility ติดตามส่วนใดส่วนหนึ่งที่ผู้ใช้งานมองเห็นอยู่ เช่น ปุ่มที่คลิกแล้วมีเมนูเลื่อนลงมาให้เลือก เราสามารถติดตามได้ถึงขนาดว่า ผู้ใช้งานคลิกเลือกเมนูไหน หรือมองเห็นแต่ไม่เลือกเมนูไหนบ้าง สามารถดูภาพรวมทั้งเพจ หรือเลือกแค่องค์ประกอบบางอย่างในเพจนั้น อย่างรูปหรือข้อความก็ได้
- User Engagement – Form Submission ติดตามการกรอกข้อความหรือฟอร์ม
- User Engagement – Scroll Depth ติดตามตำแหน่งการเลื่อนเม้าส์ของผู้ใช้งาน ทั้งเลื่อนขึ้นลงและซ้ายขวา
- User Engagement – Youtube Video ติดตามพฤติกรรมการดูคลิปวิดีโอ เช่น ดูจบหรือไม่จบ กดหยุดชั่วคราว กดกรอ หรือวิดีโอมีการกระตุก/โหลดไม่ขึ้น เป็นต้น
หลังจากตั้งค่าทริกเกอร์เรียบร้อยแล้ว วิธีใช้ GTM ส่วนต่อไปคือการตั้งแท็ก ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดว่าข้อมูลที่ได้ทั้งหมดจะถูกนำไปเก็บไว้ที่ไหน และใช้เครื่องมืออะไรในการวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมที่ได้มา โดย Tag Manager สามารถรองรับกับการฝังโค้ดบนเว็บร่วมกับผู้ให้บริการอื่นมากมาย เช่น Facebook, Hotjar, LinkedIn, Twitter เป็นต้น โดยส่วนใหญ่แล้วข้อมูลเหล่านี้จะถูกส่งไปที่ Google Analytics เป็นหลักเพื่อประมวลผลเพิ่มเติม เนื่องจากเป็นบริการจากแพลทฟอร์ม Google เหมือนกัน และยังเป็นเครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลทางการตลาดที่มีประสิทธิภาพตัวหนึ่ง
การตั้งแท็ก นอกจากจะเป็นการกำหนดปลายทางของข้อมูลแล้ว ยังเป็นเสมือนตัวรับคำสั่งจากทริกเกอร์ด้วย โดยในแท็กหนึ่งอาจบรรจุทริกเกอร์ไว้หลายอัน และเมื่อทริกเกอร์อันใดอันหนึ่งทำงาน แท็กก็จะทำการบันทึกข้อมูลส่งไปให้ Google Analytics ทันที เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการทำงาน
จะเห็นได้ว่าวิธีใช้ GTM โดยเบื้องต้นแล้วไม่ได้ยากเกินความสามารถเลยสักนิด เพียงแค่ทำความเข้าใจไม่นานก็ใช้งานด้วยตัวเองได้โดยไม่ต้อรอทีมเดปฯ แล้ว อย่างไรก็ตาม การติดตามพฤติกรรมของผู้ใช้งานนั้นต้องเป็นไปตามกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ “PDPA” ที่มีบางส่วนจะถูกบังคับใช้ในประเทศไทยปีนี้ (ปี 2563) โดย PDPA ดังกล่าวมักปรากฎให้ในรูปแบบของ คำขอใช้คุ้กกี้ (Cookies) ที่เราคุ้นเคยกันดีเวลากดเข้าชมเว็บไซต์นั่นเอง ดังนั้นถ้าอยากจะใช้ Tag Manager ก็ควรต้องทราบเช่นกันว่าเราจะติดตามพฤติกรรมของผู้ใช้งานไม่ได้ หากผู้ใช้งานไม่ได้กดยอมรับให้เราใช้คุ้กกี้บนเบราเซอร์นั้น ๆ
หลังจากอ่านบทความนี้จบและทราบแล้วว่า GTM คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร ก็อย่าลืมวางแผนการนำเครื่องมือตัวนี้ไปใช้งานบนเว็บเพื่อช่วยให้ ประสบการณ์ของผู้เข้าชมเว็บ หรือ User Experience นั้นดีขึ้น หากต้องการคำแนะนำว่าสามารถนำเครื่องมือตัวนี้ไปปรับใช้อย่างไรให้เราไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลก็สามารถติดต่อพวกเรา ทีมงาน Enabler Space ได้เลยค่ะ